
ฉบับที่แล้ว ผมได้ขยายความถึงเรื่องที่ว่าทำอย่างไรให้รู้เร็วว่าเป็นมะเร็งให้ทราบกันไปแล้ว ฉบับนี้มาว่ากันต่อถึงเรื่องของการรักษามะเร็งมาตรฐานในปัจจุบัน
การรักษามะเร็งมาตรฐานในปัจจุบัน
- การวินิจฉัยชนิดมะเร็งที่ถูกต้องเริ่มจากอาการที่สงสัย เช่น ตรวจพบก้อนเนื้อที่อวัยวะที่สงสัย มีภาพทางการแพทย์หรือผลตรวจแล็ปผิดปกติ และได้ชิ้นเนื้อมาตรวจทางพยาธิวิทยา ที่เรียกเจาะชิ้นเนื้อ (biopsy) ทั้งจากการใช้เข็มเจาะบริเวณที่อยู่ตื้น หรือการผ่าตัดเข้าไปภายในร่างกายเพื่อยืนยันว่าเป็นมะเร็งจริง ๆ แต่โชคดีว่าปัจจุบันเรามีทางเลือกใหม่ ๆ เช่น
- ส่องกล้องเข้าไปในทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจ ทางเดินปัสสาวะ endoscopic biopsy
- ใช้เข็มเจาะและนำวิถีด้วยภาพรังสีเจาะผ่านผิวหนังเข้าไปที่อวัยวะภายใน หรือ intervention biopsy
- ใช้ภาพคลื่นแม่เหล็ก MRI ร่วมกับฉีดสารพิเศษ Primovist เพื่อดูภาพของเนื้องอกตับและวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเนื้อตับชนิด HCC ได้โดยไม่ต้องเจาะชิ้นเนื้อ
- เจาะน้ำจากช่องเยื้อหุ้มปอดช่องท้อง ออกมาปั่นเอาเซลล์ไปทำการตรวจหามะเร็ง Cytology
- ในกรณีที่ตรวจชิ้นเนื้อแล้วพบว่าเป็นมะเร็ง แต่ไม่แน่ชัดว่าเป็นมะเร็งของอวัยวะนั้นหรือกระจายมาจากอวัยวะอื่นก็สามารถตรวจย้อมพิเศษเพื่อบอกที่มาของมะเร็งได้ (Immuno Histo Chemistry : IHC) ซึ่งการย้อมพิเศษจะทำให้เรารู้ชนิดของมะเร็งที่ถูกต้อง เลือกยารักษาได้ตรงกับชนิดมะเร็ง เพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต เช่น ถ้าเจอก้อนที่ตับ มะเร็งอาจเกิดจากเซลล์ตับ คือ มะเร็งตับระยะแรกที่ยังรักษาได้ หรือเกิดจากมะเร็งลำไส้กระจายมีที่ตับ คือมะเร็งลำไส้ระยะแพร่กระจาย ซึ่งยากมากที่จะรักษาหายขาด
- การกำหนดระยะโรคและการรักษาตามแนวทางมาตรฐาน ประกอบด้วย การตรวจร่างกายอย่างละเอียด ตรวจเลือดค่าการทำงานของอวัยวะสำคัญ ตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง ประเมินภาพทางการแพทย์และผลตรวจชิ้นเนื้อ ซึ่งแบ่งได้เป็น 4 ระยะโดยมะเร็งเกือบทั้งหมดในระยะแรกโอกาสหายขาดคือไม่มีมะเร็งเดิมอีกภายใน 5 ปี เกือบ 100% เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก แต่ถ้าเป็นระยะสี่ การอยู่รอด 5 ปีจะเหลือเพียงไม่ถึงหนึ่งในสี่เท่านั้น
เมื่อทราบชนิดและระยะมะเร็งแล้วทีมแพทย์เจ้าของไข้ก็จะเริ่มการรักษาตามแนวทางมาตรฐาน standard guideline ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถค้นข้อมูลได้จากเว็บไซต์ของสมาคมวิชาชีพ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ หรือโรงเรียนแพทย์ต่าง ๆ เพื่อจะได้พูดคุยกับแพทย์ และเลือกแผนการรักษาที่เหมาะสมกับระยะโรคสภาพผู้ป่วย ผู้ดูแล และงบประมาณ