
รังไข่ (Ovary) เป็นส่วนหนึ่งของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง มีส่วนสำคัญมากในระบบฮอร์โมนสตรี ซึ่งเนื้อเยื่อรังไข่ในส่วนต่าง ๆ สามารถกลายเป็นมะเร็งได้ตั้งแต่แบบไม่ลุกลาม ไปจนถึงมะเร็งชนิดร้ายที่กระจายไปอวัยวะภายในและเยื่อบุช่องท้อง
“มะเร็งรังไข่” มักพบในหญิงไทยอายุ 40-60 ปี ซึ่งปัจจุบันสามารถพบผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ได้มากขึ้น โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีประวัติมะเร็งของระบบสืบพันธุ์สตรี (เต้านมรังไข่ เยื่อบุช่องท้อง) ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าเกี่ยวข้องกับยีนมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น ยีน BRCA ซึ่งทำให้เกิดโรค Hereditiary Breast, Ovarian Cancer ซึ่งตรวจได้จากเลือดว่ามียีนกลายพันธุ์เสี่ยงมะเร็งนี้หรือไม่ และสามารถวางแผนจัดการได้ตั้งแต่ยังไม่ป่วย เหมือนกับคุณแอนเจลีน่าโจลี่ ดาราฮอลลี่วู้ด ที่โด่งดัง
“มะเร็งรังไข่” ส่วนใหญ่จะไม่มีโอกาสนอกจากก้อนมีขนาดใหญ่จนแน่นท้อง ซึ่งเกินจะรักษาให้หายขาดได้ โดยสัญญาณอันตรายของมะเร็งรังไข่ ที่ต้องรีบมาพบแพทย์ ได้แก่
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง เรอบ่อยขึ้น
- ปัสสาวะบ่อยหรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ จากการที่ก้อนมะเร็งไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ
- ท้องผูก จากการที่ก้อนมะเร็งไปเบียดลำไส้เล็กหรือลำไส้ใหญ่
- คลำเจอก้อนเนื้อบริเวณท้องน้อย
- ปวดท้องน้อย
- ประจำเดือนผิดปกติ ทั้งปริมาณมาก มาติดต่อกันนาน หรือมีอาการปวด
- มีอาการท้องมาน เนื่องจากมะเร็งกระตุ้นการสร้างน้ำออกมาในช่องท้อง
เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์นรีเวช การตรวจจะเริ่มจากการตรวจภายใน เจาะเลือดตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง เช่น CA 125, Beta HCG หรือ AFP เป็นต้น และตรวจด้วยภาพทางการแพทย์เบื้องต้น คือ อัลตราซาวด์ ถ้าพบว่า มีก้อนก็จะทำการนัดหมายเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทั่วช่องท้องต่อไปเพื่อกำหนดระยะโรค และวางแผนการรักษา
การรักษามะเร็งรังไข่ในระยะแรกจะทำการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก ซึ่งทำได้ทั้งแบบเปิดหน้าท้องหรือเจาะรูที่ผนังหน้าท้องเพื่อสอดกล้องเข้าไปตัดก้อนออกมา หลังจากนั้นจะเออาชิ้นเนื้อทั้งก้อนไปปตรวจทางพยาธิวิทยา ว่าขอบเขตที่ตัดออกมานั้นมีมะเร็งหลงเหลือหรือไม่ เป็นเซลล์ชนิดอะไร และต้องฉายรังสีหรือให้ยาเคมีบำบัดหรือไม่ เพื่อป้องกันการเป็นซ้ำ
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์ในระยะที่มะเร็งลุกลามกระจายไปแล้ว (ระยะ 4) จึงไม่สามารถกำจัดก้อนมะเร็งทั้งหมดออกได้ การรักษาจึงเป็นการชะลอการลุกลามของโรคออกไปให้นานที่สุด ด้วยการให้ยาเคมีบำบัด หรือการใช้ยาต้านฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งในสูตรยาเคมีในปัจจุบันพบว่ามีประสิทธิภาพคุมโรคได้ดีขึ้น แต่ผู้ป่วยบางส่วนก็ยังไม่ตอบสนองต่อยา จึงต้องอาศัยเทคนิคใหม่ ๆ ในการรักษา ได้แก่
- ใช้ยามุ่งเป้าที่ยับยั้งการสร้างเส้นเลือดท่อน้ำเลี้ยงก้อนมะเร็ง คือ ยา Avastin ให้ฉีดร่วมกับยาเคมี พบว่า มะเร็งถูกทำลายมากขึ้น คุมโรคได้นานขึ้น แต่ก็ยังมีผู้ป่วยบางส่วนที่ดื้อต่อการรักษา จึงได้มีการพัฒนาการรักษาใหม่ ๆ ขึ้นมา
- ทำการตรวจหาการกลายพันธุ์ที่ยีน BRCA ถ้าตรวจพบการกลายพันธุ์ (ตรวจจากชิ้นเนื้อมะเร็งที่ตัดออกมา หรือตรวจจากเลือด) ก็จะใช้ยามุ่งเป้าที่เรียกว่า ยาต้านระบบ PARP ซึ่งจะทำให้ระบบซ่อมแซมตัวเองของมะเร็งหยุดทำงานและหยุดการเติบโต โดยยานี้ได้ขึ้นทะเบียนในประเทศไทยแล้ว ชื่อว่า Oraparib เป็นยาแคปซูล รับประทานวันละ 2 ครั้ง มีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาเคมี ช่วยคุมโรคที่ดื้อยาเคมีและยาตัดท่อน้ำเลี้ยงมะเร็ง
ข้อดีของยาชนิดนี้ คือ เป็นยาที่เราทำนายผลการตอบสนองได้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีพันธุกรรมตรงกับยา จึงเรียกว่า เป็นการรักษามะเร็งแนวใหม่เฉพาะบุคคล (Personalized cancer treatment) ซึ่งเป็นวิทยาการต้านมะเร็งที่จะเข้ามาตอบโจทย์การรักษามะเร็งรังไข่ระยะกระจายที่ยังไม่มียาได้ผลดี นอกจากนี้ ในผู้ป่วยที่มียีน BRCA กลายพันธุ์และเป็นมะเร็งเต้านมระยะลุกลาม เราก็ยังสามารถใช้ยาต้าน PARP รักษาได้เช่นกัน