
ยามุ่งเป้าที่เน้นทำลายเซลล์มะเร็งมากกว่าเซลล์ร่างกาย
ปัจจุบันเรามีความเข้าใจในกลไกการเกิดของมะเร็งมากขึ้น คือทราบว่า มะเร็งคือเซลล์ร่างกายที่เติบโตผิดปกติเพราะการกลายพันธุ์โดยธรรมชาติ, การสืบทอดความเสี่ยงจากพ่อแม่ หรือได้รับสารก่อการกลายพันธุ์ เช่นไวรัส HPV ก่อมะเร็งปากมดลูก, ไวรัส HBV ก่อมะเร็งเนื้อตับ รวมถึงมลภาวะและการปนเปื้อนสารพิษจากอาหาร
เซลล์ที่ผิดปกติเหล่านี้สามารถหลุดพ้นจากระบบตรวจจับของร่างกาย (ภูมิคุ้มกัน) ได้ แต่เมื่อเข้าสู่กระแสเลือดก็จะถูกเม็ดเลือดขาวที่จัดการสิ่งแปลกปลอมทำลาย ดังนั้นเราจึงมีโอกาสตรวจพบเซลล์มะเร็งในเลือดได้บ้าง แต่ทว่าจะไม่มีการรวมตัวเป็นก้อนมะเร็ง ซึ่งต้องมีความผิดปกติต่าง ๆ ตามมาอีกจึงจะครบองค์ประกอบ เราเรียกลักษณะที่ทำให้เซลล์มะเร็งคงอยู่และเติบโตไปได้เรื่อย ๆ นี้ว่า ลักษณะพิเศษของมะเร็ง (Hallmarks of Cancer) โดยปัจจุบันเราพบลักษณะพิเศษดังกล่าวประมาณ 10 ประการ
เมื่อเรารู้ความลับของกลไกที่ทำให้เกิดมะเร็ง ก็เท่ากับการทำสงครามที่เราสามารถ “รู้เขา – รู้เรา รบร้อยครั้งก็อาจจะชนะได้ทุกครั้ง” นั้นเอง ความลับของมะเร็งที่ว่า นำมาซึ่งการวิจัยการรักษามะเร็งยุคใหม่ซึ่งได้ผลดีกว่าการ ผ่าตัด ฉายรังสี และยาเคมีแบบเดิม ความลับที่ว่า ได้แก่
- เซลล์มะเร็งมีการกระตุ้นระบบสัญญาณสั่งให้เซลล์เติบโต หรือ Epithelial Growth Factor (EGF) มากกว่าเซลล์ปกติโดยจะมีตัวรับบนผิวเซลล์มะเร็งที่ทำงานมากกว่าเซลล์ในอวัยวะเดียวกัน ดังนั้น ถ้าเราตรวจพบว่ามะเร็งมีตัวรับสัญญาณที่แรงผิดปกติและสามารถสร้างเคมีที่มีโมเลกุลที่จำเพาะต่อตัวรับนั้น ๆ แบบจำเพาะเจาะจง เราก็อาจจะหยุดการเติบโตของมะเร็งนั้น ๆ ได้ เราจึงเรียกการรักษาที่เจาะจงทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็งแบบนี้ว่า “ยามุ่งเป้า หรือ Targeted treatment” นั่นเอง โดยองค์ประกอบของการรักษาแบบนี้ประกอบด้วย
- แยกแยะได้ว่าเซลล์มะเร็งมีตัวรับแบบผิดปกติ ด้วยการเจาะเอาชิ้นเนื้อมาย้อมสีพิเศษที่ติดกับตัวรับก่อมะเร็ง
- มียาที่เข้าไปจับและขัดขวางการส่งสัญญาณกระตุ้นการเติบโตของเซลล์มะเร็งได้ ไม่ว่าจะเป็นยาแบบกินหรือยาเซรุ่มจำเพาะแบบฉีด ซึ่งทำให้ได้ผลการรักษาที่ดีในโรคที่เป็นทั่วร่างกาย โดยไม่ต้องฉีดยาเคมีบำบัดทำลายทั้งเซลล์มะเร็งและเซลล์ปกติ ตัวอย่างของตัวรับบนผิวเซลล์ที่เราตรวจพบและยามุ่งเป้าที่ควรทราบได้แก่
- ตัวรับ EGFR : ยากินกลุ่ม TKI เช่น Afatinib, Erlotinib, Gefitinib ในโรคมะเร็งปอด, ยาฉีด Cetuximab, Panitumuimab ในมะเร็งลำไส้
- ตัวรับ C-Kit : ยากิน Imatinib ในมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรัง และมะเร็งจีสต์
- ตัวรับ HER2 : ยาฉีด Trastuzumab ในมะเร็งเต้านม และมะเร็งกระเพาะอาหาร
- ยาที่ออกฤทธิ์ทั้งตัวรับ EGFR และ HER2 เช่น ยากิน Lapatinib
โดยยาเหล่านี้สามารถใช้เป็นยาเดี่ยวหรือต้องใช้ร่วมกับยาเคมีเพื่อเสริมฤทธิ์ ขึ้นกับชนิดและระยะของโรค
- มะเร็งสร้างสารกระตุ้นให้ร่างกายสร้างเส้นเลือดไปเลี้ยงเซลล์มะเร็ง หรือ VEGF เราจึงวิจัยสร้างยาต้าน VEGF เช่น ยา Avastin ซึ่งมีใช้มานานพอสมควร ยากลุ่มนี้เมื่อใช้ร่วมกับยาเคมีแบบฉีดในมะเร็งลำไส้ มะเร็งปอด มะเร็งสมอง จะทำให้เกิดการตอบสนองต่อการรักษาที่สูงขึ้นกว่าใช้ยาเคมีอย่างเดียว เหมือนกับกรตัดท่อน้ำเลี้ยงของมะเร็ง เมื่อโดนยาเคมีเข้าไปก็ยากที่จะซ่อมแซมตัวเองได้การให้ยานี้เพิ่มก็อาจมีผลข้างเคียงได้บ้าง เช่น ความดันโลหิตสูงหรือเสี่ยงต่อเลือดออกแต่ก็พบได้น้อย
- ยามุ่งเป้ายุดใหม่บางชนิดก็จะถูกออกแบบที่ออกฤทธิ์หลายกลไก เช่น ยา Sorafenib, Regorafenib ในมะเร็งเนื้อตับ ซึ่งจะทำให้หยุดการแบ่งตัวของมะเร็งได้ดีขึ้น แต่ก็อาจจะมีผลข้างเคียงเพื่อขึ้นเช่นกัน
การศึกษามะเร็งระดับลึกในปัจจุบันพบข้อมูลที่น่าสนใจคือมะเร็งเองก็มีกลไกการดำรงชีวิตที่หลากหลายซับซ้อนพยายามเอาชนะระบบตรวจจับของร่างกายเหมือนกับแมวไล่จับหนู นักวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงต้องพยายามศึกษากลไกการเติบโตของมะเร็ง และหายาใหม่ๆออกมาเรื่อยๆ เพื่อเอาชนะมะเร็งให้ได้ในตอนต่อไปเราจะมาทำความรู้จักกับลักษณะพิเศษอื่นๆ ของมะเร็งและการสร้างยาใหม่มาใช้กันครับ