ความจริงก็คือเมื่อเราอายุเยอะขึ้นเราก็จะรู้สึกเหนื่อยได้ง่าย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกระบวนการแก่ชรา ที่ให้เราเราจะสูญเสีย Mitochondria (แหล่งผลิตพลังงานภายในเซลล์) ทำให้เราสร้าง Adenosine triphosphate (ATP) ซึ่งเป็นโมเลกุลที่ส่งต่อพลังงานไปยังเซลล์ทั้งร่างกายได้น้อยลง สาเหตุอื่นเช่น ผลกระทบจากการใช้ยา หรือโรคเรื้อรัง เช่นโรคซึมเศร้า หรือโรคหัวใจ อย่างไรก็ตามพฤติกรรมการใช้ชีวิตก็เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งเลย ลองมาเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้กัน
การไม่เคลื่อนไหวร่างกาย
เราจะมีการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น การมวลกล้ามเนื้อน้อยลงก็จะทำให้เรามีระดับ Mitochondria ที่ลดลงไปด้วย การไม่เคลื่อนไหวร่างกายจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอและลดขนาดลง ทำให้ไม่สามารถใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การออกกำลังกายจะทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น โดยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ATP รวมถึงการเพิ่มการสร้างสารสื่อประสาท การออกกำลังกาย 30 นาทีต่อวัน อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ ด้วยความหนักระดับกลางคือมีความเหนื่อยระดับที่สามารถพูดเป็นคำสั้น ๆ ได้ โดยเราสามารถแบ่งเวลา 30 นาทีนี้ออกเป็นช่วงสั้น ๆ หลาย ๆ ช่วงได้ คุณไม่จำเป็นต้องมีเหงื่อออก ขอแค่คุณได้ออกกำลังกาย อาจเป็นสิ่งง่าย ๆ เช่น ขึ้นบันได หรือเดินไกลขึ้นไปลานจอดรถ นั้นก็ช่วยได้มากแล้ว
เครียดมากเกินไป
ความเครียดที่เรื้อรังเพิ่มระดับของ Cortisol ซึ่งเป็น ฮอร์โมนที่สร้างจาก Adrenal glands โดย Cortisol จะลดการสร้าง ATP และเพิ่มการเกิดการอักเสบที่ก็จะไปลดการสร้าง ATP อีกด้วย เทคนิคในการลดความเครียดที่สัมพันธ์กับระดับของ Cortisol เช่น การเล่นโยคะ การทำสมาธิ การรำไท่เก๊ก การฝึกการหายใจ หรือการจินตภาพ 10 นาทีต่อวันสามารถช่วยได้
การมีภาวะโภชนาการที่ไม่ดี
ถ้าร่างกายรับสารอาหารเช่นวิตามิน และเกลือแร่ที่ไม่เพียงพอในการสร้าง ATP คุณก็จะรู้สึกเหนื่อยง่ายขึ้น การกินอาหารที่ผ่านการแปรรูปมากก็จะยิ่งกระตุ้นการเกิดการอักเสบที่มากขึ้น ซึ่งก็จะไปยับยั้งการสร้าง ATP และพลังงาน เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้นคุณจะมีพฤติกรรมการกินที่เปลี่ยนไป เช่นเราอาจทานอาหารที่มากเกินไปต่อครั้งทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุให้คุณรู้สึกเหนื่อยล้าได้ เราสามารถแก้ไขได้โดย การทานอาหารที่ไม่ผ่านการแปรรูป เช่นผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด โปรตีนที่ไขมันต่ำเช่นปลา ไก่ ถั่ว และเมล็ดพืช กรดไขมันที่อยู่ในอาหารที่มีโปรตีนสูงนั้นจะช่วยเพิ่ม ATP การลดปริมาณอาหารต่อมื้อให้ลดลง แล้วเพิ่มอาหารว่าง จะทำให้ร่างกายมีระดับการได้รับพลังงานที่คงที่ และลดโอกาสการพุ่งสูงของระดับน้ำตาล
การนอนหลับที่น้อยเกินไป
การนอนไม่พอจะเพิ่มระดับ Cortisol และจะเพิ่มการอักเสบ ลองมาเพิ่มสุขอนามัยที่ดีในการนอนโดยพยายามเข้านอนและตื่นที่เวลาเดิม นอนในห้องนอนที่อากาศเย็น เงียบ และปราศจากอุปกรณ์สื่อสารที่จะไปรบกวนการทำงานของสมอง และลองปรึกษาแพทย์ถึงสาเหตุที่ทำให้หลับได้ไม่ดี จากปัจจัยทางด้านสุขภาพต่าง ๆ เช่น การต้องลุกไปเข้าห้องน้ำบ่อย ผลกระทบจากการใช้ยา หรือ ภาวะหยุดหายใจระหว่างหลับ (Sleep apnea) ที่จะทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดต่ำลง และไปลดระดับการสร้าง ATP
การเลือกดื่มเครื่องดื่มที่ไม่ดี
การดื่มน้ำอัดลมที่มีน้ำตาลให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงเป็นสาเหตุให้เกิดความเนื่อยล้า การที่ร่างกายขาดน้ำก็ทำให้เรารู้สึกเหนื่อยเช่นกัน เมื่อคุณดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนซึ่งจะไปรบกวนการนอนมากเกินไปใกล้เวลาเข้านอน เพื่อสุขภาพที่ดีควรดื่มน้ำอย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน และดื่มมากขึ้นเมื่อออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงน้ำหวาน น้ำอัดลม และหยุดการดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนและแอลกอฮอล์อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
การอยู่คนเดียว
การแยกออกมาอยู่คนเดียวโดยไม่พบผู้คนอื่น ๆ เป็นประจำ มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคซึมเศร้า และภาวะซึมเศร้ามีความเชื่อมโยงกับความอ่อนล้า การที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นนั้น จะช่วยเราเปิดวิสัยทัศน์ และเพิ่มพลังในตัวของเรา จากงานวิจัยพบว่าสมองจะปล่อยสารเคมีที่ทำให้เรามีความสุข และมีพลังงานเมื่อเรามีการติดต่อกับบุคคลอื่น ๆ เราสามารถแก้ได้โดยนัดเจอผู้คนอย่างน้อยหนึ่งครังต่อสัปดาห์ อาจเป็นเพื่อน คนในครอบครัว เพื่อนบ้านหรือ เพื่อนใหม่
เมื่อความเมื่อยล้าส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตของเรา โดยเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น อาการปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ มีไข้ หรือมีปัญหาของ กระเพาะ และการขับปัสสาวะ เมื่อนั้นคุณควรเข้าพบแพทย์